ขั้นที่ 2 ฝึกหมุนจักระที่ 7
2.1 ลำดับการหมุนจักระ ให้เริ่มจากจักระที่ 7 เมื่อคุณฝึกฟอกปราณบริหารปอดฯ และหลอดลมสำเร็จแล้ว ให้เริ่มฝึกสมาธิปราณจักระที่ 7 คือทำทุกขั้นตอนเหมือนเดิม แต่เวลาฝึกหมุนจักระให้หลับตาเหมือนนั่งสมาธิ และเปลี่ยนให้แผ่วเบาลง ปล่อยตัวตามสบาย สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือ เมื่อดึงลมหายใจเข้า ให้จินตภาพว่ามีรัศมีวงกลมสีม่วงกำลังหมุนเวียนไปตามเข็มนาฬิกาที่บริเวณกลางศีรษะ หมุนวนอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเร็ว หมุนให้เราจับภาพในจินตนาการได้ว่า พลังงานจากห้วงจักรวาลกำลังไหลผ่านรัศมีสีม่วงลงมาตามลมหายใจ และไปสิ้นสุดที่บริเวณท้องน้อยเหมือนเดิม การฝึกขั้นที่สองนี้ ลักษณะมือยังคงอยู่ในท่า ฮาคินีมุทราอยู่อย่างนั้น ทำเช่นเดิมกับขั้นตอนที่ 1 ทุกประการ สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือจินตภาพที่กำหนดให้ชัดเจนที่สุด และในการจินตภาพทุกครั้ง ให้ผู้ฝึกกำหนดความรู้สึกไปอยู่บริเวณจักระดังกล่าวเสมอ เทคนิคการไล่ความรู้สึกไปตามเส้นปราณจะคุ้นเคยเมื่อทำการฝึกบ่อยครั้งขึ้น กล่าวคือ #รู้สึกว่าหมุนอยู่ตรงนั้น #รู้สึกว่าเคลื่อนจากจุดนั้นไปตามกระดูกสันหลัง #ความรู้สึกจะไล่ไปพร้อมกับลมหายใจ #เคลื่อนเข้าและออกอย่างช้า #สติจับจินตภาพ
2.3 เมื่อผ่อนลมหายใจออก เปลี่ยนจากการผ่อนออกทางปากเป็นผ่อนออกทางจมูกอย่างช้า อาจจะนับถอยหลังตามสูตรที่บางคนให้ไว้ก็ได้เช่น ดึงลมเข้า 4 วินาที กักไว้ 4 วินาที ปล่อยออก 8 วินาที สูตรนี้ก็ไม่เสียหาย แต่จากประสบการณ์แล้ว เมื่อเราฝึกจนชำนาญ จะสามารถกักลมได้นานขึ้นอีกเล็กน้อย และผ่อนลมออกได้ยาวขึ้นเล็กน้อย เช่น อาจจะ กักไว้ 5-7 วินาที และผ่อนออกทางจมูก 8-10 วินาที ก็สามารถทำได้
“ฝึกฌานจักระมุทรา”
*** ถึงแม้การกลั้นลมหายใจ หรือกักลมดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากพยายามฝึกเกร็งมากเกินไปกับคนที่ฝึกใหม่ อาจจะส่งผลให้หน้ามืด เวียนศีรษะ หรือมือเท้าชาได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่นโรคหัวใจ, โรคความดันโลหิต, โรคหอบ, โรคภูมิแพ้, โรคหลอดเลือดหัวใจ, เป็นลมพิษบ่อย หรือผู้ที่ต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการทางจิตเวช ฯลฯ เพราะระยะอาการของโรคนั้นแตกต่างกัน คุณจะต้องทำการปรึกษาแพทย์ประจำตัวของคุณเพื่อสอบถามก่อนที่จะตัดสินใจฝึกปราณวิถีในลักษณะหมุนจักระและกักลม แต่คุณสามารถฝึกในรูปแบบฌานจักระได้อย่างผ่อนคลายไม่ฝืนจนเกินไป ทำเท่าที่ร่างกายคุณตอบสนองและรู้สึกดีก็เพียงพอ ***
แต่สำหรับนักกีฬาที่มีกิจกรรมในการกลั้นหายใจอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดเช่น นักดำน้ำ หรือนักว่ายน้ำ หรือกิจกรรมบางอย่างที่เมื่อต้องใช้ความอดทนในการทำกิจกรรม ร่างกายจะตอบสนองโดยสั่งให้คุณกลั้นหายใจชั่วขณะแบบอัตโนมัติ เหมือนที่เราจะมักพูดกันเวลาต้องการยกของหนักว่า “อ่าว .. ฮึบ” นั่นคือการที่ร่างกายสูดลมหายใจเข้าและกลั้นหายใจเพื่อยกขึ้น อาจจะเกิดจากการหายใจที่เร็วขึ้นและแรงขึ้น หลังจากนั้นกักลมหายใจไว้เพื่อเพิ่มแรง และผลการวิจัยจาก European Journal of Applied Physiology ก็แสดงให้เห็นว่านักกีฬาที่ผสมผสานการฝึกแบบเข้มข้นร่วมกับการฝึกกลั้นหายใจที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถทนทานได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
หรือจากการศึกษาทางวิชาการของ ดร.แอนดรู เวล (Dr.Andrew Weil) นายแพทย์ชื่อดังในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญแพทย์บูรณาการ (Intergrative Medicine) กล่าวถึงเทคนิคการหายใจแบบ 4-7-8 (สูดลม 4 วินาที, กักลมไว้ 7 วินาที และผ่อนลมออกทางปาก 8 วินาที) ว่าเป็นพื้นฐานของผู้ฝึกปราณายามะในแบบโยคะ ซึ่งช่วยควบคุมลมหายใจให้ช้าลง ปรับสภาวะร่างกายได้ดีขึ้น สามารถช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น
ถึงแม้จะมีงานวิจัยมากมายกล่าวถึงข้อดีของการฝึกกลั้นหายใจ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ฝึกจะทำอะไรที่เกินขอบเขตความพอดี ดังนั้น การฝึกในลักษณะฟอกปราณบริหารปอด และการหมุนจักระ จึงควรทำอย่างเหมาะสมสลับกับการฝึกฌานจักระ บางคนอ่านเจอบทความเรื่องกลั้นหายใจมีประโยชน์ช่วยปรับให้ร่างกายใช้ออกซิเจนน้อยลง และความคงทนต่อสภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงขึ้น จึงทำการฝึกกลั้นหายใจเป็นเวลานาน เช่น 1-3 นาที แบบนั้นอาจไม่ส่งผลดีต่อร่างกายอย่างที่คิด ดังนั้น การฝึกฝนร่างกายให้พอเหมาะพอดีกับพัฒนาการย่อมมีผลสำเร็จที่สุกงอมกว่าการเร่ง การรีบ หรือการพยายามทำเกินตัวนะครับ
ผลจากการฝึกขั้นที่ 2 : จะทำให้สมองปลอดโปร่งขึ้น คิดงาน วางแผนงาน หรือการจัดระเบียบความคิดดีขึ้น รับรู้ถึงคลื่นพลังแม่เหล็กไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกาย และส่งคืนกลับสู่จักรวาลได้ชัดเจนขึ้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น