Last updated: 24 ธ.ค. 2566 | 2760 จำนวนผู้เข้าชม |
“อักษรรูน” คืออักษรโบราณ ที่กล่าวว่าเป็นต้นแบบพัฒนามาสู่พยัญชนะในตัวอักษรภาษาอังกฤษในปัจจุบัน มีความเชื่อกันว่าเป็นอักขระเวทมนตร์ที่ได้รับประทานมาจากองค์มหาเทพ เป็นเครื่องมือเชื่อมต่อระหว่างพลังงานบางอย่างในห้วงจักรวาล มาสู่มวลมนุษยชาติ และเมื่อกล่าวถึงแหล่งกำเนิดของอักษรรูนหลายคนคงพอที่จะทราบว่าเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับตำนานชาวนอร์ส (Norse mythology) และเทพเจ้านอร์ส อันเป็นศรัทธาของเหล่าอาซาทรูเออร์ ในศาสนา หรือที่ถูกเรียกเป็นลัทธินอกรีด “อาซาทรู” (Asatru ปัจจุบันมีองค์กรทางศาสนาแล้ว) สืบทอดความเชื่อจากตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้าโอดิน (Odin) มหาเทวบุตรผู้เป็นคุรุของชาวสแกนดิเนเวีย อันเป็นศาสนาโบราณในแถบยุโรปเหนือ หรือกลุ่มประเทศนอร์ดิก เช่น สวีเดน, นอร์เวย์, เดนมาร์ก, ไอซ์แลนด์, ฟินแลนด์ เป็นต้นซึ่งแตกต่างจากเทพเจ้าซีอุส หรือซุส (Zeus) ที่เป็นตำนานเทพในฝั่งกรีกโบราณ ดังนั้น บ่อยครั้งที่เราจะพบเห็นตัวละครที่กล่าวถึงเทพเจ้าเหล่านี้ในจักรวาลภาพยนต์ต่างชาตินั่นเอง
(คำว่า Runes (รูนส์) เราจะพบเห็นการสะกดทั้งเติม S และไม่เติม เกิดจากการอ้างอิงจากความหมายเชิงพหูพจน์ในภาษาอังกฤษ หมายถึงหลายชิ้น หรือหลายอักษร ดังนั้น Rune (รูน) จึงหมายถึงชิ้นเดียว ในบทความนี้ผู้เขียนขอใช้คำไทยว่า “รูน” เพียงอย่างเดียวเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนนะครับ)
ตำนานนอร์ส นั้น ถูกกล่าวถึงในเชิงลัทธินอกรีด หรือนอกศาสนา เพราะเมื่อคริสตจักรได้เข้าไปมีบทบาทในแถบสแกนดิเนเวีย การนับถือเทพเจ้าจึงกลายเป็นเรื่องงมงาย เป็นพ่อมด แม่มด หมอผี และถูกกวาดล้างไปในห้วงเวลาหนึ่ง ตำนานที่หลงเหลืออยู่จึงมีศูนย์กลางอยู่ที่เรื่องราวของเหล่าทวยเทพต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับมนุษยชาติอย่างแน่นแฟ้น มีความเชื่อเกี่ยวกับโลกทั้งเก้าที่มีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์อยู่ตรงกลางจักรวาลนั่นคือต้นอิกดราซิล (Yggdrasill) กิ่งก้านของต้นอิกดราซิลนั้นแผ่ขยายไปจนถึงสวรรค์ และเป็นที่จัดประชุมของเหล่าทวยเทพที่เดินทางจากแอสการ์ด (Asgard) ด้วยสะพานบีฟว์รอสต์ (Befrost) คล้ายกับหนังเรื่องธอว์ เทพเจ้าสายฟ้า ที่ปรากฏในทีมอเวนเจอร์ (Avengers) ก็ดึงเอาตำนานเหล่านี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชม เช่นเดียวกับซีรีส์มหาเทพของฝั่งอินเดีย พราหมณ์ - ฮินดู พระศิวะ พระนารายณ์ หรือพระพรหม ที่คนไทยจะคุ้นชินมากกว่า จากการรับอารยธรรมเข้ามาอย่างฝังแน่น
ต้นกำเนิดของอักษรรูนโบราณนี้ ที่เชื่อกันว่าเกิดจากการที่เทพเจ้าโอดินปรารถนาจะล่วงรู้ความลับสูงสุดของจักรวาล จึงทรงทรมานองค์เอง คล้ายกับการทำทุกรกิริยา ด้วยการผูกเท้าข้างหนึ่งไว้กับต้นไม้แห่งชีวิตอิกดราซิล แล้วแทงหอกไปที่สีข้าง ทุกข์ทรมานอยู่เก้าวันเก้าคืนจนสิ้นพระชนม์ (คล้ายกับภาพของไพ่ The Hanged Man ในการ์ดทาโรต์นั่นเอง) แต่เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้ว พระองค์ก็ทรงฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ และเปี่ยมไปด้วยสติปัญญา ที่จะทรงเรียนรู้อักษรรูนในครานั้น
ต่อมา หลังจากที่เทพเจ้าโอดินทรงเรียนรู้อักษรรูนอันเป็นองค์ความรู้จากภายนอกจนแตกฉานแล้ว จึงนำมาใช้ในการสร้างเวทมนตร์ต่าง ๆ และถ่ายทอดให้เหล่าทวยเทพ จนกระทั่งตกทอดมาสู่มนุษย์ เหมือนกับม้าวิเศษของพระองค์ ก็ถูกสลักฟันด้วยอักษรรูนเช่นกัน จึงทำให้มีความสามารถในการเหาะเหินเดินอากาศไปบนท้องฟ้าเหนือทะเลได้อย่างง่ายดาย กล่าวกันว่าเทพเจ้าโอดินมักจะสวมเสื้อคลุม, หมวกปีกกว้างและถือหอก (สันนิษฐานว่าเป็นต้นแบบของแกนดัล์ฟ พ่อมดขาวในลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ที่ทรงภูมิปัญญาเยี่ยงเทพเจ้า)
เห็นได้ว่าหากความเชื่อเรื่องอักษรรูนนั้นมีต้นกำเนิดมาจากเทพเจ้า อักษรรูนจึงเปรียบเสมือนตราสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์และมีเวทมนตร์ภายในตัว (ถ้าจะเทียบกับอักษรขอมโบราณบ้านเราก็คงไม่แปลกนัก) เป็นวัฒนธรรมตกทอดมาแต่ยุคโบราณในศาสนาอาซาทรู (Asatru) ซึ่งเป็นศาสนาแบบพหุเทวนิยม คือมีการนับถือเทพเจ้าหลายพระองค์เป็นปฐม พินิจแล้วก็คล้ายคลึงกับมหาเทพสายพราห์ม-ฮินดู ที่เรารับมาจากอินเดีย ต่างกันที่ตำนานความเชื่อครับ
สำหรับชาวนอร์ส หลายคนอาจมีภาพจำในลักษณะของชนเผ่าไวกิ้งที่บุกเบิกล่าอาณานิคม เป็นชนเผ่านักรบที่น่าเกรงขามในยุคสมัยหนึ่ง รวมถึงสงครามระหว่างคนหัวเก่าที่นับถืออาซาทรู กับคริสตจักรที่เริ่มแผ่ขยายไปโซนเหนือ จนกระทั่งต่อมาคริสตจักรได้กลืนกินสแกนดิเนเวียแทบทั้งหมด ในยุคกวาดล้างอาซาทรูโดยกษัตริย์ที่เปลี่ยนศาสนาเป็นชาวคริสต์
ที่เห็นได้ชัดเจนดังเช่น ในยุคของ พระเจ้าโอลาฟ ทริกก์วอซัน (Olaf Triggvason) ผู้ปกครองนครนอร์เวย์ ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 ทรงสั่งประหารชาวนอร์เวย์ที่นับถือศาสนาอาซาทรูเป็นจำนวนมาก ด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งูพิษกัดที่ลำคอ หรือทรมานด้วยถ่านไม้ที่ลุกโชนด้วยไฟบนร่างกายมนุษย์ แค่คิดภาพก็น่าหดหู่ใจอย่างมากนะครับ แต่กระนั้นก็มีกษัตริย์บางพระองค์ที่ช่วยรักษาลัทธิอาซาทรูให้หลุดรอดจากหายนะมาได้เช่น พระเจ้าจาร์ล ฮาร์คอน ซิเกอร์ดสัน (Jarl Harkon Sigurdsson) ผู้สืบทอดอาซาทรูตามรูปแบบดั้งเดิม และรักษาให้คงไว้ที่ไอซ์แลนด์ จนกระทั่งได้รับการฟื้นฟูใหม่จนถึงปัจจุบัน
เกี่ยวกับหลักความเชื่อของศาสนาอาซาทรูนั้น ไม่มีบัญญัติในเรื่องของการสวดอ้อนวอนพระเจ้า ดังนั้น การกล่าวถึง สรรเสริญ หรือเล่าความเกี่ยวกับเทพเจ้านอร์ส จึงเกิดขึ้นในรูปแบบที่เรียกว่าบทกวี หรือเอ็ดดา (Eddas) โดยพื้นฐานของศาสนาอาซาทรู ก็ไม่มีหลักปฏิบัติให้ยึดถือหรือกฎข้อบังคับใดตายตัว ส่วนมากจะอ้างถึงการดำเนินชีวิตโดยหลักขันติธรรม การดำเนินชีวิตด้วยสันติภาพและความเคารพ มุ่งเน้นให้ผู้คนใช้ชีวิตให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของตนเอง เพื่อจัดการห้วงต่าง ๆ ของชีวิต และมีจุดมุ่งหมายในบั้นปลายว่าจะเป็นแบบไหน เน้นความเชื่อมโยงต่อทุกสรรพสิ่ง และเคารพต่อธรรมชาติ เป็นศาสนาที่เปิดกว้างและไม่มีข้อจำกัดแม้เรื่องเพศสภาพ จึงเป็นที่นิยมของกลุ่ม LGBT พอสมควรอีกด้วย และผู้ที่ศรัทธาในศาสนาอาซาทรู จะถูกเรียกขานว่า เพแกน (Pagan) เป็นคนนอกรีต นอกศาสนา และก็เป็นที่น่าแปลกที่ในปัจจุบันสถิติของคนไร้ศาสนา มีมากเป็นอันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียว
ดังนั้น เทพเจ้าในความเชื่อของอาซาทรู จะไม่สมบูรณ์แบบเหมือนศาสนาอื่น และเหล่าทวยเทพจะถูกมองว่าเป็นเพื่อนชีวิต เพื่อนร่วมเดินทาง ที่ควรได้รับเกียรติด้วยความเคารพ โดยไม่แบ่งแยกจากมนุษย์โลก และจะไม่มีการกราบไหว้บูชาเหมือนอย่างพุทธ-พราหมณ์ในบ้านเรา เพียงแค่กล่าวถึงด้วยการสรรเสริญพระนามกับคุณสมบัติประจำองค์เทพเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่ดีแล้วในมุมมองของศรัทธาอาซาทรูเออร์
เรื่องราวของอักษรรูนนั้นถูกค้นพบตั้งแต่ปี ศตวรรษที่ 4-5 นั่นหมายความว่า การจารึกอักษรรูน สันนิษฐานได้ว่า อักษรรูนนั้นอาจจะถือกำเนิดก่อนคริสตกาล และด้วยหลักฐานการแกะสลักบนอาวุธ แผ่นหิน กระดูกสัตว์ แผ่นไม้ หรืออุปกรณ์เครื่องใช้โบราณต่าง ๆ ทำให้พิสูจน์ทราบในเรื่องนี้ ส่วนมูลเหตุที่ศาสตร์อักษรรูน ที่เชื่อกันว่าเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์ ถูกกวาดล้างในยุคล่าพ่อมดแม่มด ค.ศ.ที่ 14-17 นั่นก็เพราะว่า หากผู้ใดที่ใช้จารึกอักษรรูนจะถูกตีความไปว่าเป็นพวกผู้วิเศษ หรือพ่อมดหมอผี พวกเล่นไสยศาสตร์มนตร์ดำ อักษรรูนจึงเป็นอักขระโบราณที่เลือนหายไปในยุคหนึ่งพร้อม ๆ กับศาสนาที่พวกเขานับถือ หรือลัทธิอาซาทรูที่ได้ตายไปแล้วในยุคนั้น จนกระทั่งต่อมา เมื่อคริสตจักรเปิดกว้างมากพอ และการปิดกั้นที่ลดน้อยลง กลุ่มคนที่สนใจศึกษาจึงรื้อฟื้นอักษรรูนกันขึ้นมาอีกครั้งและกลายเป็นความนิยมของผู้ศรัทธา
“รูนคืออะไร” (Runes) มีรากศัพท์มาจากคำว่า รูน่าส์ (Runas) ในภาษาลัตเวีย แปลว่า คำพูด หรือบางตำราว่ามาจากคำว่า คาวเนน (Raunen) ในภาษาเยอรมัน แปลว่า เสียงกระซิบ หรือเสียงบ่น อักษรรูนนั้นเป็นอักษรที่ถูกออกแบบอย่างอิสระ ไม่ขึ้นกับอักษรใด มีความเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์ การร่ายเวท หรือการประทับมนตร์ให้กับสิ่งของเครื่องใช้ เป็นเสมือนอักขระโบราณที่สืบทอดกันมายาวนาน มีทั้งหมด 24 ตัวอักษร ในรูปแบบตั้งต้นเรียกว่า ดิ เอลเดอร์ ฟูทาร์ค (The Elder Futhark) จัดได้ว่าเป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดจากการค้นพบในยุโรป คำว่า Futhark ไม่ว่าจะเป็นการสลักแผ่นหิน, แผ่นไม้, แผ่นโลหะ, อาวุธ, ศิลปกรรม หรือเครื่องประดับ ฯลฯ หลังจากที่ถูกกวาดล้างไป ก็มีการนำกลับมาใช้อีกครั้งภายหลังคริสต์ศตวรรษที่ 18 และได้มีการพัฒนาเพื่อใช้งานในกลุ่มประเทศอื่น คือ แองโกล แซกซอน ฟูทาร์ค (Anglo-Saxon Futhark) ที่มีการเพิ่มตัวอักษรเข้าไปเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการเขียนภาษาอังกฤษเก่า และ เดอะ ยังเกอร์ ฟูทาร์ค (The Younger Futhark) ที่ใช้เป็นอักษรหลักในนอร์เวย์, สวีเดน และเดนมาร์ก จนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยตัวอักษรละตินเมื่อศริสตจักรแพร่ขยายไปถึง
ในความเชื่อที่ว่า อักษรรูนใช้สื่อสารกับเทพเจ้า เป็นคำบอกเล่าบางอย่างจากองค์เทพ หรือพลังศักดิ์สิทธิ์บางสิ่งในห้วงจักรวาล ที่กำลังกระซิบบอกคุณ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว ผู้เขียนเป็นเรื่องที่ไม่แปลก เพราะเมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ จะขอเปรียบเปรยสักเล็กน้อยกับความเชื่อของแทบจะทุกภูมิภาคของโลกนะครับ ด้วยความต่างลัทธิ ต่างศาสนา ดังนั้นเราจึงไม่ควรตัดสินว่าบ้านเรางมงายกว่าบ้านเขา หรือฝรั่งเค้างมงายกว่าเรา ในเรื่องของตำนาน ผู้เขียนมองถึงเสน่ห์อย่างหนึ่งของวัฒนธรรมโบราณที่สืบทอดกันมา ถ้าทุกอย่างที่กล่าวถึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อ ก็ต้องใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลขัดเกลาจิตใต้สำนึกของตนเองนะครับ “เราจึงไม่ควรกระทบกระเทียบความเชื่อของใคร ด้วยความเชื่อของเราเอง” และในหลักพื้นฐานของศาสนาอาซาทรู อักษรรูนโบราณมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง ดังนั้น ผู้ที่จะใช้งาน จึงไม่ควรนำมาเล่นพิเรนทร์ หรือใช้กับสิ่งอันไม่พึงประสงค์เด็ดขาด เพราะเชื่อกันว่าจะถูกทำโทษจากเทพเจ้าตามตราประทับอักษรนั้น หรือเชื่อกันว่า อาถรรพ์จากการทดลองใช้โดยขาดศรัทธา จะนำพลังงานด้านลบจากเบื้องบนเข้าสู่ตัวเอง เช่น บางคนมีอาการปวดศีรษะไม่ทราบสาเหตุ หรือปวดเมื่อยร่างกายอย่างผิดปกติ
อักษรรูนโบราณ ประกอบด้วยชุดอักษร 3 เอธส์ (Aetts ออกเสียง อา-เอธส์ แปลว่าครอบครัว) 1 เอธส์มี 8 ตัวอักษร ซึ่งมีการให้คำนิยามเป็นสัญลักษณ์แทนเทพเจ้า หรือเทพีบางพระองค์ แทนสัตว์ แทนอาวุธ แทนพาหนะ และคำนิยามอื่นใดที่จะสอดคล้องกับความหมาย หรือกลุ่มพลังประจำรูนนั้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลผู้เขียนเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะชาวนอร์สโบราณ ที่จะต้องออกล่าสัตว์ ทำสงคราม เดินทางโดยเรือ ทำอาชีพกสิกรรม หรือทำฟาร์มปศุสัตว์ การผจญกับสภาวะอากาศหนาวเหน็บ เป็นต้น
“อักษรรูนทั้ง 3 Aetts (เอธส์)” ประกอบด้วย
1. เฟรยา เอธ หรือ เฟรย์ เอธ (Freyja’s Aett / Freyr’s Aett) เป็นชุดอักษร รูนของเทพีเฟรยาและเทพเฟรย์ ผู้ได้รับขนานนามว่าเป็นเทพเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นอักขระชุดนี้จึงสื่อความหมายไปในเชิงความรัก ความสุข ความสมบูรณ์แห่งชีวิต
2. ฮากัล เอธ (Hagal’s Aett) เป็นชุดอักษรรูนของเทพเฮมดัลล์ (Heimdal) เทพผู้พิทักษ์ประตูแห่งสะพานบีฟว์รอสต์ (หากถ้าใครติดตามภาพยนตร์เรื่องธอร์ ก็คงจะพอนึกภาพออกนะครับ) ดังนั้นแล้ว ความหมายของอักขระชุดนี้จึงเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลง การมองเห็น การเปิดทาง เปิดวาสนา การนำทาง ความก้าวหน้า เงินทอง และความสำเร็จ
3. ธีร์ เอธ (Tyr’s Aett) เป็นชุดอักษรรูนของเทพธีร์ ผู้ได้รับขนานนามว่าเทพแห่งสงคราม อักขระชุดนี้จึงสื่อความหมายถึงพลัง อารมณ์ จิตวิญญาณ ความแข็งแกร่ง และความกล้าหาญ
ความสนุกของอักษรรูนอยู่ที่การผสมคำ หรือที่เรียกกันว่าการออกแบบเวทมนตร์คาถาด้วยการไบนด์รูน (Bind Runes หรือ Bindrune) วิธีการสร้างคาถารูนคือนำเอาอักษรศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มาผสมเพื่อให้ได้ความหมายที่ต้องการ และการจะใช้คาถารูนให้ได้ผลและถูกต้อง เนื้อหาทั้งหมด ผู้เขียนเรียบเรียงไว้ในตำรา “ยันต์รูน” เมจิกคอลเสตฟส์และการออกแบบไบนด์รูนพร้อมใช้
เท่าที่ผู้เขียนศึกษาในศาสตร์ของความเชื่อ และตำนานชาวนอร์สโบราณ จึงอยากจะกล่าวพอสังเขปในเรื่องของอักษรรูนว่ามีความเป็นไปได้ ที่จะเกิดจากผู้สร้างในยุคก่อนคริสตกาล โดยอ้างอิงถึงหลักความเชื่อในเรื่องของพหุเทวนิยม อันหมายถึงการบูชาเทพเจ้าหลายองค์ รอยสลัก การจารึกในรูปแบบที่มีความหมายพิเศษ จึงเป็นการส่งต่อ ถ่ายทอด และผสมผสานเข้ากับเทวะตำนานก็เป็นไปได้ อันการจารึกในอดีตคงหนีไม่พ้นปราชญ์ประจำชนเผ่า ที่อาจล่วงรู้ความลับของเทพเจ้าและจักรวาล หรือผู้ที่ได้รับการเคารพนับถือ คล้ายกับฤาษีในพราหมณ์-ฮินดู ที่เป็นผู้แต่งคัมภีร์พระเวท และก็เป็นผู้สร้างตำนานมหาเทพพราหมณ์ขึ้นมาเช่นเดียวกัน โดยอาศัยความกลัวของมนุษย์ สร้างสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจขึ้นมา และอักษรขอมที่คนไทยใช้เขียนยันต์ จารของขลัง ก็มาจากอักษรขอมโบราณ ที่รับมาจากพราหมณ์ในประเทศอินเดียเช่นเดียวกัน โดยมีต้นกำเนิดมาจากอักษรปัลลวะที่สืบทอดพัฒนามาจากราชวงศ์ปัลลวะ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียราวพุทธศตวรรษที่ 11 หรือราว ๆ ปี 1000 – 1090 โดยประมาณ หรือจะเป็นไปได้หรือไม่ หากท่านเหล่านั้น เป็นผู้ที่มาจากโลกอื่น หรือจักรวาลอื่น และถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ ผ่านสัญลักษณ์ 24 รูปแบบ และกลายมาเป็นอักษรรูน เพื่อใช้เป็นทางเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์ และพลังงานรูปแบบต่าง ๆ จากห้วงจักรวาลก็เป็นไปได้
จะเห็นได้ว่า ทุกความเชื่อ ทุกศาสตร์แห่งเวทมนตร์ มักจะมีตำนานเชื่อมโยงของตนในแต่ละภูมิภาค อันมาจากเหล่านักบวช, ผู้บำเพ็ญตน, พ่อมด, หมอผี, หมอยา, ผู้วิเศษ หรือผู้เฒ่าผู้แก่นักพยากรณ์ผู้ล่วงรู้ประจำหมู่บ้านก็ตาม คนเหล่านี้จะเป็นศูนย์รวมแห่งความเชื่อมั่นศรัทธา เป็นผู้แต่งแต้มตำนานให้เป็นจริง หลายคนคงสงสัยว่า “แต่งแต้มตำนานให้เป็นจริง” หมายความว่าอย่างไร เรื่องนี้ผู้เขียนคงต้องเชื่อมโยงไปถึงศาสตร์ของการดึงเอาพลังงานในห้วงจักรวาลมาใช้ตามใจปรารถนาของเหล่าผู้คงวิชาทั้งหลายข้างต้น นั่นจึงหมายความว่า ตำนานต่าง ๆ ใช่ว่าจะไม่มีตัวตน เทพเจ้าทั้งหลาย ใช่ว่าจะไม่มีตัวตน ในบางตำนาน “เทพเจ้า” เกิดจากมนุษย์ผู้บำเพ็ญตนจนสามารถปรับภพภูมิเป็นเทวดา เป็นเซียน อย่างเช่นเทพเจ้าของชาวจีน บางตำนานถูกเล่าขานต่อ ๆ กันมาถึงอานุภาพของนักบวชผู้อยู่เหนือจักรวาล จนถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งโลก เช่นพระศิวะ บรมครูแห่งฤาษีทั้งปวง เช่นเดียวกันครับ ชาวยุโรปก็มีตำนานเทพเจ้าในแบบฉบับของเขาเช่นกันครับ เวลาพูดถึงเทพเจ้าบ้านเขาเราก็จะตะขิดตะขวงใจ ก็เหมือนกับการที่เราไปเล่าเรื่องเทพเจ้าบ้านเรา กับคนที่ไม่รู้นั่นแหละครับ
“ความศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าเทพเจ้า เกิดจากจิตศรัทธาของมนุษย์” ใช่ครับ คำกล่าวนี้ถูกต้องยิ่งนัก เพราะเมื่อมนุษย์หลายล้านคนรวมจิตใจเป็นหนึ่ง นับถือในเทพเจ้า หรือรูปปั้นเทพเจ้าพระองค์ใด ก็จะทำให้เกิดอานุภาพ เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งมีเหล่านักบวช พ่อมด หมอผี หรือผู้ทรงศีลก็ตาม ทำพิธีถ่ายทอดพลังจากห้วงจักรวาลมาสู่รูปปั้นเหล่านั้น ก็จะกลายเป็นเทพเจ้าที่มีฤทธิ์ดั่งความปรารถนา เพราะศาสตร์ของการดึงเอาพลังงานในห้วงจักรวาลมาใช้นั้นถูกบัญญัติขึ้นมาหลายพันปีแล้วเช่นกัน เมื่อมีการทำพิธี มีการพลีบูชา ก็มีการเล่าขานตำนานต่อมา ดังที่ผู้คนได้รับสืบทอดมาในปัจจุบัน
-----------------------------
ศึกษาวิชาอักษรรูนได้จากตำรา 2 เล่มนี้ครับ
เล่มที่ 1 : "อักษรรูน" การใช้รูนพยากรณ์และเกร็ดตำนานนอร์ส Rune Reading and Norse Mythology
รวมรวมเนื้อหาในส่วนของการพยากรณ์ทั้งแบบพื้นฐาน และระบบรูนคู่รูนไขว้ที่ไม่เคยถ่ายทอดในตำราเล่มใด ก้าวสู่นักพยากรณ์มืออาชีพ รวมถึงต้นกำเนิด เกร็ดตำนาน และหลักการบูชาเทพเจ้านอร์ส จบในเล่มนี้ (รายละเอียดหน้าสารบัญคลิกที่ภาพหนังสือ)
เล่มที่ 2 : "ยันต์รูน" เมจิกคอลสเตฟส์ และการออกแบบไบนด์รูนพร้อมใช้ Bind Runes and Staves
รวบรวมเนื้อหาเรื่องของการใช้เวทมนตร์นอร์สทั้งในรูปแบบของยันต์รูน (Bind Runes) วิธีการออกแบบและหลักวิธีใช้ตามธาตุต่าง ๆ รวมถึงสัญลักษณ์เวทมนตร์อื่นในแถบนอร์ดิก หรือไอซ์แลนด์ดิก เมจิกคอล สเตฟส์ (Icelandic Magical Staves) และยังมียันต์สำเร็จรูป 133 แบบ ให้ได้ฝึกวาด หรือทดลองทำเวทมนตร์ด้วยตนเอง รวบรวมเสร็จสรรพในเล่มนี้เล่มเดียว (รายละเอียดหน้าสารบัญคลิกที่ภาพหนังสือ)